ประกาศเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.54 น. เปิดอ่าน
245 ครั้ง
พิมพ์
วัดเชียงคาน ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
พระแสนแซ่ เป็นคำเรียกพระพุทธรูปโบราณที่ชาวล้านนาหล่อขึ้นหลายๆ ส่วน แล้วนำมาประกอบกันเข้าเป็นองค์พระพุทธรูป โดยใช้วิธีการยึดด้วยสลักหรือหมุดตามข้อต่อต่างๆ
ชาวล้านนาเรียกสลักหรือหมุดว่า “แซ่” หรือ “แซ่ว” ส่วน “แสน” หมายถึง มากมายยิ่ง
ดังนั้น พระพุทธรูปที่ใช้สลักหรือแซ่ยึดไว้เป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อว่า “พระแสนแซ่” เช่นเดียวกับในภาคกลางเรียกพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ว่า “หลวงพ่อโต” นั่นเอง
พระพุทธรูปแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญมีพุทธลักษณะที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานและผูกพันกับพุทธศาสนิกชนในตำบลสถานมาโดยตลอด เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41.5 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 85.5 กิโลกรัม จากหลักฐานจารึกอักษรที่ฐานพระพุทธรูประบุว่า “เจ้าเณรเจ้าก๋านมะกะละ สร้างพระแสนแซ่ถวายไว้ที่วัดบ้านแหน เมื่อปีพุทธศักราช 1991 ปีระกา เดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ”
ต่อมาวัดบ้านแหน ได้ชำรุดทรุดโทรมมากลายเป็นวัดร้างไป เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปีพุทธศักราช 2444 ประชาชนชาวบ้านเชียงคาน ได้ขุดพบพระแสนแซ่ ณ บริเวณวัดบ้านแหน และได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหมู่บ้าน ใต้ต้นโพธิ์โรงเรียนบ้านเชียงคานในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่ได้สร้างวัด จนกระทั่ง พ.ศ.2448 เมื่อชาวบ้านได้สร้างวัดเชียงคานขึ้นแล้ว จึงได้อัญเชิญพระแสนแซ่มาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงคาน จนถึงปัจจุบัน